วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ชาวบ้านบางระจัน



          ชาวบ้านบางระจัน  เป็นกลุ่มบุคคลที่ถือเป็นตัวอย่างบุคคลสำคัญในภาคกลาง  ซึ่งได้รับการยกย่องว่า  เป็นกลุ่มบุคคลผู้กล้าหาญและเสียสละชีวิตต่อชาติบ้านเมือง
          
ประวัติ
               ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย  ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าได้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาโดยได้ยกกองทัพมา 2 ทาง  คือ  ทางเมืองกาญจนบุรีและทางเมืองตาก  โดยมีเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ  โดยทัพแรกให้เนเนียวสีหบดีเป็นแม่ทัพยกมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของกรุงศรีอยุธยาแล้วให้ย้อนกลับมาตีกรุงศรีอยุธยา  ส่วนทัพที่ มอบให้มหานรธาเป็นแม่ทัพยกมาตีเมืองทวายและกาญจนบุรี  แล้วให้ยกกองทัพมาสมทบกับเนเมียวสีหบดีเพื่อล้อมกรุงศรีอยุธยาพร้อมกัน
               ทัพของเนเมียวสีหบดีได้มาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองวิเศษไชยชาญ  แล้วให้ทหารออกปล้นสะดมทรัพย์สมบัติ  เสบียงอาหาร  และข่มเหงราษฎรไทย  จนชาวเมืองวิเศษไชยชาญไม่สามารถถอดทนต่อการข่มเหงของพวกพม่าได้  กลุ่มชาวบ้านที่บางระจันประกอบด้วย  นายแท่น  นายโชติ  นายอิน  นายเมือง  นายดอก  และนายทองแก้ว  จึงได้รวบรวมชาวบ้านต่อสู้กับพม่า  โดยได้อัญเชิญพระอาจารย์ธรรมโชติจากสำนักวัดเขานางบวช  แขวงเมืองสุพรรณบุรี  ซึ่งชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาให้มาช่วยคุ้มครองและมาร่วมให้กำลังใจ  และได้มีบุคคลชั้นหัวหน้าเพิ่มขึ้นอีก  ได้แก่  ขุนสวรรค์  นายจันหนวดเขี้ยว  นายทองเหม็น  นายทองแสงใหญ่  และพันเรือง  เมื่อมีชาวบ้านอพยพเข้ามามากขึ้น  จึงช่วยกันตั้งค่ายบางระจันขึ้น  เพื่อต่อสู้ขัดขวางการรุกรานของพม่า
            
 วีรกรรมสำคัญ
               ชาวบ้านบางระจันรวบรวมชาวบ้านได้จำนวนมาก  จึงตั้งค่ายสู้รบกับพม่า  โดยมีกลุ่มผู้นำรวม 11 คน  พม่าได้พยายามเข้าตีค่ายบางระจันถึง 7 ครั้ง  แต่ก็ไม่สำเร็จ
               ในที่สุดสุกี้ซึ่งเป็นพระนายกองของพม่าได้อาสาปราบชาวบ้านบางระจัน  โดยตั้งค่ายประชิดค่ายบางระจัน  แล้วใช้ปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายแทนการสู้รบกันกลางแจ้ง  ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตไปจำนวนมาก
               ชาวบ้านบางระจันไม่มีปืนใหญ่ยิงตอบโต้ฝ่ายพม่า  จึงมีใบบอกไปทางกรุงศรีอยุธยาให้ส่งปืนใหญ่มาให้  แต่ทางกรุงศรีอยุธยาไม่กล้าส่งมาให้  เพราะเกรงว่าจะถูกฝ่ายพม่าดักปล้นระหว่างทาง  ชาวบ้านจึงช่วยกันหล่อปืนใหญ่โดยบริจาคของใช้ทุกอย่างที่ทำด้วยทองเหลืองมาหล่อปืนได้สองกระบอก  แต่พอทดลองนำไปยิง  ปืนก็แตกร้าวจนใช้การไม่ได้
               ถึงแม้ว่าไม่มีปืนใหญ่  ชาวบ้านบางระจันก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้กับพม่าต่อไปจนกระทั่งวันแรม 2 ค่ำ  เดือน พ.ศ. 2309  ค่ายบางระจันก็ถูกพม่าตีแตกและสามารถยึดค่ายไว้ได้  หลังจากที่ยืนหยัดต่อสู้กับข้าศึกมานานถึง 5 เดือน
               จากวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันทำให้ได้รับการยกย่องว่า  เป็นวีรกรรมของคนไทยที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการเสียสละชีวิตให้แก่ชาติบ้านเมือง  และแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและความกล้าหาญของคนไทยในการต่อสู้กับข้าศึก  และถือเป็นแบบอย่างที่ดีของอนุชนรุ่นหลัง  ทางราชการจึงได้สร้างอนุสาวรีย์วีรขนค่ายบางระจันเป็นรูปหล่อวีรชนที่เป็นหัวหน้าทั้ง 11 คน  ขึ้นบริเวณหน้าค่ายบางระจัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี  เพื่อเป็นอนุสรณ์สืบต่อไป



ที่มา : เอกรินทร์  สี่มหาศาล  และคณะ . ประวัติศาสตร์ ป.5. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น