พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร” ประสูติเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่
35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์เดียวในเจ้าจอมมารดาวาด
เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาหนังสือชั้นต้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบ โดยพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) เป็นอาจารย์ใหญ่
จากนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯส่งไปศึกษา ณ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ จบแล้วเข้าศึกษาต่อใน ตรินนิตี้คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐และทรงศึกษาวิชาทหารช่างที่ซัมแทม
จนสำเร็จได้รับยศเป็นนายร้อยตรีทหารช่างในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ รวมระยะเวลาศึกษาในต่างประเทศคือประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษเป็นเวลา
๑๐ ปี
เมื่อเสด็จกลับไทยทรงรับราชการครั้งแรกในปี
พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานยศนายพันตรี ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้รับแต่งตั้งให้มีพระอิสริยยศเป็น
“พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน” และมีพระอิสริยะศักดิ์เป็น
“นายพลตรี ราชองครักษ์” ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลละเป็นจเรการช่างทหารบก
ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร”มาตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๔๓๗ เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ทรงพระนามว่า
“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้รับราชการสืบต่อมา
และได้มีประกาศเกี่ยวกับการใช้คำนำหน้าพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ ๖
ตามประกาศในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๔ จึงทรงเปลี่ยนคำนำหน้าพระนามเป็น
“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นกำแพงเพชรอัครโยธิน”
และได้เลื่อนเป็นนายพลโทราชองครักษ์ ตำแหน่งแม่ทัพน้อย ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เลื่อนเป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน” ได้ทรงบัญชาการกรมรถไฟหลวงพระองค์แรก(พ.ศ. ๒๔๖๐)
และเลื่อนเป็นนายพลเอกทหารบก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒
และเลื่อนพระอิสริยยศเป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน” ในปี
พ.ศ. ๒๔๖๕
ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้ดำรงตำแหน่ง “เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม”
เป็นพระองค์แรกในปี พ.ศ.๒๔๖๙ จากนั้นทรงได้รับแต่งตั้งเป็น “อภิรัฐมนตรี”
ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชั้นสูง ในรัชกาลที่ ๗ เลื่อนเป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน” ในปี พ.ศ.๒๔๗๒
ในสมัยรัชกาลที่ ๕
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงปฏิรูปการปกครอง
การบริหารราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมทั้งปฏิรูประบบกฎหมายและการศาล
สำหรับการสาธารณูปโภคนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย เช่น
การตั้งธนาคารการไฟฟ้า การไปรษณีย์โทรเลข การโทรศัพท์ เป็นต้น
ในด้านการคมนาคมนอกจากการสร้างถนนและขุดครองเพิ่มเติมแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างทางรถไฟ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่
โดยวางเส้นทางให้ผ่านแหล่งสำคัญๆแถบกลางประเทศแล้วตัดแยกไปสู่เมืองสำคัญอันเป็นศูนย์การค้า
เช่น นครราชสีมา เป็นต้น การสำรวจเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๔
จากนั้นในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์
เริ่มสร้างทางรถไฟสาย นครราชสีมา นับเป็น “ทางรถไฟหลวงสายแรก” ของไทย
ครั้นถึงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปทรงเปิดการเดินรถไฟหลวงสาย กรุงเทพฯ – นครราชสีมา
เป็นปฐมฤกษ์
สำหรับ “รถไฟราษฎร์” สายแรกคือ สายกรุงเทพฯ –
ปากน้ำ ดำเนินงานโดยชาวเดนมาร์กคณะหนึ่ง เมเปิดบริหารเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.
๒๔๓๖ ระยะทางประมาณ ๒๕ กิโลเมตร
ในระยะแรกการกิจการรถไฟต้องอาศัยชาวต่างชาติเป็นผู้บัญชาการและอำนวยการมาตั้งแต่ปี
พ.ศ. ๒๔๓๙ – ๒๔๖๐ รวมเป็นระยะประมาณ ๒๑ ปี ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๖
เมื่อไทยประกาศสงครามเข้าร่วมกับพันธมิตรในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๐
ทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลงว่างลง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้รวมกรมรถไฟเหนือกับกรมรถไฟใต้ที่มีมาแต่เดิมเข้าเป็น
“กรมรถไฟหลวง” เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน” (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ดำรงตำแหน่ง
“ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง” นับเป็นคนไทพระองค์แรกที่ดำรงตำแหน่งสำคัญนี้
เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งแล้วพระองค์ทรงปฏิรูปกิจการรถไฟใหม่หลายประการ
เช่น รวมกรมรถไฟเหนือกับกรมรถไฟใต้เข้าด้วยกัน
จัดส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาการช่างในต่างประเทศโดยทุนการรถไฟหลวงติดต่อกันถึง ๗๓
คน ดำเนินการให้มีการออกพระราชบัญญัติ จัดการวางระเบียบการรถไฟ
โดยให้กิจการรถไฟเอกชนที่ได้สัมปทาน เช่น สายแม่กลอง(จังหวัดสมุทรสงคราม)
สายปากน้ำ(จังหวัดสมุทรปราการ) มาขึ้นกับกรมรถไฟหลวงเป็นที่เรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ.
๒๔๖๔
นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๖
ได้มีการขยายกิจการรถไฟอีกหลายสาย เช่น สายตะวันออก
สร้างต่อจากแปดริ้ว(จังหวัดฉะเชิงเทรา)
ไปจดอรัญประเทศ(ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดสระแก้ว)เปิดเดินรถไฟจากกรุงเทพฯ
ถึงสถานีอรัญประเทศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙
สายเหนือจากสถานีกรุงเทพฯ ถึงสถานีเชียงใหม่
ในปี พ.ศ.๒๔๖๕โดยเจาะอุโมงค์ขุนตาลที่จังหวัดลำปาง
สายตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน)
จากสถานีกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดอุบลราชธานี ในปีพ.ศ. ๒๔๖๘
และมีทางแยกไปจังหวัดขอนแก่น
สายใต้จากสถานีบางกอกน้อย ถึงสถานีปาดังเบซา
จังหวัดนราธิวาส ในปีพ.ศ. ๒๔๖๔
สำหรับสถานีหัวลำโพง กรุงเทพฯ
ซึ่งสร้างขึ้นใหม่มีพิธีเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙
และในรัชกาลที่ ๖ นี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปี พ.ศ. ๒๔๖๕
เพื่อเชื่อมทางรถไฟสายใต้กับสายเหนือเข้ารวมกัน
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงพระองค์แรก ทรงบริหารกิจการกรมรถไฟหลวงด้วยความวิริยะอุตสาหะ
ทรงปรับปรุงกิจการรถไฟให้เจริญก้าวหน้ามีความมั่นคงทัดเทียมกับอารยประเทศ สมกับพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ และ ๖ ทรงวางรากฐานไว้จนทรงได้รับพระสมัญญาเป็น
“พระบิดาแห่งการรถไฟไทย” และได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของพระองค์ประดิษฐาน ณ
หน้าตึกที่ว่าการรถไฟ สะพานนพวงศ์ยศเส เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๘
เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙พระชันษา ๕๕ ปี ทรงเป็นต้นสกุล “ฉัตรชัย”
ทรงอภิเษกสมรสในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล มีโอรส ธิดา รวม ๔ พระองค์
อ้างอิง : ธนากิต.
วีรบุรุษ วีรสตรี และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : ปิรามิด, 2554
คือดี👍👏👏👏👏👏👏👏👏👏
ตอบลบ(づ ̄ ³ ̄)づL(*OεV*)E♡(`ω`)♡