พระนามเดิมว่า สิน ทรงพระราชสมภพ เมื่อปี
พ.ศ. ๒๒๗๗ ที่บ้านใกล้กำแพงพระนครศรีอยุธยา พระราชบิดามีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ พระราชมารดาชื่อ นกเอี้ยง ต่อมาภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระเทพามาตย์
เจ้าพระยาจักรี สมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ขอรับไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี
เจ้าพระยาจักรี ได้นำเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็ก
ทำราชการอยู่ในบังคับบัญชาของหลวงศักดิ์นายเวร เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี เจ้าพระยาจักรี ได้ทำการอุปสมบทให้ในสำนักพระอาจารย์ทองดี
วัดโกษาวาส (วัดเชิงท่า)อยู่สามพรรษาแล้วลาสิกขาเข้ารับราชการตามเดิม ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ (สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓) ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นข้าหลวงพิเศษเดินทางไปชำระคดีความตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ
มีความดีความชอบ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ต่อมาเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นพระยาตากแทน
เมื่อพม่ายกกำลังเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่สอง
พระยาตากได้เข้ามาช่วยราชการป้องกันกรุงศรีอยุธยาอย่างเข้มแข็ง แต่ในที่สุดเมื่อเห็นว่าการป้องกันกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น
ไม่อำนวยให้กระทำได้อย่างเต็มที่และอยู่นอกอำนาจหน้าที่ที่พระองค์จะแก้ไขได้ จึงได้หาทางต่อสู้ใหม่ ด้วยการตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไป ด้วยกำลังเล็กน้อยเพียง
๕๐๐ คน
ได้ต่อสู้กับกองทหารพม่าที่บ้านพรานนก
ได้ชัยชนะจากนั้นได้นำกำลังไปตั้งมั่นที่เมืองจันทบุรี
เพื่อรวบรวมกำลังมากู้กรุงศรีอยุธยาที่เสียแก่พม่า เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐
เมื่อพระองค์ทรงรวบรวมกำลังพลได้ประมาณ ๕,๐๐๐ คน กับเรือรบ ๑๐๐ ลำ
ก็ได้ยกกำลังทางเรือเข้ายึดเมืองธนบุรี ได้เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๑๑
ในวันต่อมาพระองค์ได้ตีค่ายทหารพม่าที่ค่ายโพธิสามต้น และค่ายอื่นๆ แตกทุกค่าย
ทำการกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จในเวลาเพียงเจ็ดเดือน
หลังจากขับไล่พม่าออกไปแล้วพระองค์ก็ได้ทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์
เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๑ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชรญ์
หรือสมเด็จพระบรมราชที่ ๔ แต่คนทั่วไปนิยมขนานพระนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงเห็นว่า
กรุงศรีอยุธยาที่ถูกฝ่ายพม่าเผาผลาญวอดวาย
ทำลายบ้านเมืองไปหมดสิ้นเกินกว่าที่จะบูรณะปฎิสังขรณ์ให้กลับเป็นเมืองหลวงได้
จึงทรงเลือกเมืองธนบุรี ที่มีความเหมาะสมกว่าขึ้นเป็นราชธานี พระราชกรณียะกิจของพระองค์ในลำดับต่อมาคือการรวบรวม
การรวบรวมกำลังไว้ต่อสู้กับพม่าต่อไปคือความเป็นปึกแผ่นของพระราชอาณาจักร ซึ่งในเวลานั้นได้มีผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ห้าชุมนุมต่าง ๆ ได้แก่
ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมเจ้าพิมาย และชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช เมื่อรวมชุมนุมของพระองค์เองที่กกรุงธนบุรีแล้วก็มีถึงห้าชุมนุม พระองค์ทรงใช้เวลาในการปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ
อยู่สามปี จึงเสร็จปราบปรามได้เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๓ ทำให้พระราชอาณาจักรเป็นปึกแผ่น ส่วนหัวเมืองมาลายูได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน
และเมืองตรังกานู ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยามาแต่เดิม
และได้แยกตัวเป็นอิสระเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์เห็นว่ายังไม่พร้อม และยังไม่มีความสำคัญเร่งด่วน
ที่จะไปปราบปรามจึงได้ปล่อยไปก่อน ในการทำสงครามกับพม่าในระยะต่อมา
พระองค์ได้เปลี่ยนหลักนิยมในการยึดพระนครเป็นที่ตั้งรับข้าศึกมาเป็นการยกกำลังไปยับยั้งข้าศึกที่ชายแดน ทำให้ประชาชนพลเมืองไม่ได้รับอันตรายเสียหายเดือดร้อนจากข้าศึก ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการทำสงครามขยายพระราชอาณาเขต
ของกรุงศรีอยุธยาออกไปอย่างกว้างขวางโดยได้ทำศึกสงครามกับพม่า และอาณาจักรอื่น ๆ
รวม ๑๒ ครั้ง ในปีพ.ศ.๒๓๒๔ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
และเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพไปปราบเขมร แต่ต้องยกทัพกลับเนื่องจากทางกรุงธนบุรีเกิดจราจล โดยพระยาสรรค์ได้ก่อกบฏ ยกกำลังเข้ายึดกรุงธนบุรี
แล้วจับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ไปทรงผนวชที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหาษัตริย์ศึก
ยกทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรี ได้ปราบปรามกบฎได้สำเร็จ
ราษฎรและบรรดามหาอำมาตย์
จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่
๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงทำศึกสงครามมาโดยตลอดเวลา ๑๕ ปี โดยมิได้หยุดหย่อน ได้ขยายพระราชอาณาเขตของกรุงธนบุรีออกไป
จนเกือบเท่ากับสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงแก่พม่า พระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น