วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สมเด็จพระสุริโยทัย


พระราชประวัติ
สมเด็จพระสุริโยทัยสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วง ดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาต่อจากขุนวรวงศาธิราชได้เพียง 7 เดือน เมื่อ พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และมหาอุปราชาบุเรงนองยกกองทัพพม่าเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีและตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของ สมเด็จพระศรีสุริโยไท ซึ่งไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชสวามี จะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เพื่อปกป้องพระราชสวามีไว้ เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ปีจุลศักราช 910 ตรงกับวันเดือนปีทางสุริยคติ คือ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2092 เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ขนานนามว่า วัดสบสวรรค์ หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์
 
พระวีรกรรม
         
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2092 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงตัดสินพระทัยยกทัพออกนอกพระนครเพื่อเป็นการบำรุงขวัญทหารและทอดพระเนตรจำนวนข้าศึกสมเด็จพระสุริโยทัยพร้อมกับพระราชโอรส-พระราชธิดารวม 4 พระองค์ได้เสด็จติดตามไปด้วย โดยพระองค์ทรงแต่งกายอย่างมหาอุปราช ครั้นยกกองทัพออกไปบริเวณทุ่งภูเขาทอง กองทัพอยุธยาปะทะกับกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพม่า ช้างทรงของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเกิดเสียทีหันหลังหนีจากข้าศึก พระเจ้าแปรก็ทรงขับช้างไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด สมเด็จพระสุริโยทัยทอดพระเนตรเห็นพระราชสวามีกำลังอยู่ในอันตรายจึงรีบขับช้างเข้าขวางพระเจ้าแปร ทำให้ทรงไม่สามารถติดตามต่อไปได้ พระเจ้าแปรจึงทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระสุริโยทัย เนื่องจากสมเด็จพระสุริโยทัยอยู่ในลักษณะเสียเปรียบ ช้างพระเจ้าแปรได้เสยช้างสมเด็จพระสุริโยทัย จนเท้าหน้าทั้งสองลอยพ้นพื้นดิน แล้วพระเจ้าแปรจึงฟันสมเด็จพระสุริโยทัยจากพระพาหาขาดถึงกลางพระองค์พระองค์เสด็จสวรรคตเช่นเดียวกับพระราชธิดา คือ พระบรมดิลก บนช้างทรงเชือกเดียวกัน

        สมเด็จพระศรีสุริโยทัย หรือ พระสุริโยทัย วีรสตรีไทยสมัยอยุธยา เป็นอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์องค์ที่ 15 ของกรุงศรีอยุธยาแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ พระสุริโยทัย ตามพงศาวดารหลวงประเสริฐฯ กล่าวเพียงแค่เป็นอัครมเหสีผู้เสียสละพระชนม์ชีพเพื่อปกป้องพระราชสวามีในสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ ในปี พ.ศ. 2091 พงศาวดารบางฉบับ กล่าวว่า พระสุริโยทัย เป็นเจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย โดยมิได้กล่าวรายละเอียดใดมาก

ที่มา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. สุริโยไท ประวิติศาสตร์จากภาพยนตร์.พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพ : สำนักพิมพ์รีดเดอร์ พับลิชชิ่ง,2544
          เทิดพงษ์ เผ่าไทย. วีรสตรีผู้ยิ่งใหญ่สมเด็จพระศรีสุริโยทัย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์น้ำฝน,2544




วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ         
       สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียะกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่งของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่าง ๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัย ดังจะกล่าวถึงพระประวัติ และพระราชกรณียะกิจด้านต่างๆ ดังนี้
  
พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย 
           สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๗ ในพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ต้นสกุล"โรจนดิศ" เป็นเจ้าจอมมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๐๕ พระบาท สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระนามและพระพร ประกอบด้วยคาถาเป็นภาษาบาลีซึ่งมีคำแปลดังต่อไปนี้
          " สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม ผู้บิดาตั้งนามกุมารบุตรที่เกิดแต่ชุ่มเล็กเป็นมารดานั้น และซึ่งคลอดในวัน ๗ ฯ๙ ๗ ปีจอจัตวาศกนั้น ว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร นาคนาม ขอจงเจริญชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล ทุกประการ สิ้นกาลนานต่อไป เทอญ 
ตั้งนามมาวัน ๕ ฯ๕ ๙ ค่ำ ปีจอจัตวาศก เป็นปีที่ ๑๒ เป็นวันที่ ๖๐๙๖ ในรัชกาลปัจจุบันนี้"
           พระองค์ทรงเริ่มเรียนหนังสือไทยชั้นต้นจากสำนักคุณแสงและคุรปาน ราชนิกุล ในพระบรมมหาราชวัง ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง ซึ่งมีมิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์สัน เป็นพระอาจารย์ 
พ.ศ. ๒๔๑๘ เมื่อมีพระชนม์ได้ 13 พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็น พระอุปัชฌาย์ และประทับจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร 
พ.ศ. ๒๔๒๐ ได้ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวง พระชนมายุได้ 15 ปี 
พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยโท ผู้บังคับการทหารม้า ในกรมทหารมหาดเล็กและในปีเดียวกันนี้ได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยเอก ราชองค์รักษ์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชนมายุได้ 17 ปี  
พ.ศ. ๒๔๒๓ ได้รับพระราชทานยศเลื่อนเป็นนายพันตรี ผู้สนองพระบรมราชโองการ ว่าการกรมทหารมหาดเล็ก 
พ.ศ. ๒๔๒๔ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปสังกัดกรมทหารปืนใหญ่ ซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า "กรมกองแก้วจินดา" 
พ.ศ. ๒๔๒๕ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็ยพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระ อุปัชฌาย์ และประทับจำพรรษาที่วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
พ.ศ. ๒๔๒๘ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นผู้บังคับการทหารมหาดเล็ก และได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันโท 
พ.ศ. ๒๕๒๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฎ และทรงประกาศแต่งตั้งให้ดำรงพระอิสริยยศ เป็น "กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ" 
พ.ศ. ๒๔๓๐ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผ้บัญชาการทหารบก 
พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี 
พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายจากงานฝ่ายทหารไปปฏิบัติงานทางพลเรือน ทรงเป็นผู้กำกับ กรมธรรมการ 
พ.ศ. ๒๔๓๓ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นอธิบดีกรม ศึกษาธิการ 
พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๕๘ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงมหาดไทย 
พ.ศ. ๒๔๔๒โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น "กรมหลวงดำรงราชานุภาพ" 
พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศ เป็น "กรมพระดำรงราชานุภาพ" 
พ.ศ. ๒๔๕๘ ดำรงตำแหน่งนายกหอพระสมุดสำหรับ พระนคร 
พ.ศ. ๒๔๖๖ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร และเป็นนายพลเอก 
พ.ศ. ๒๔๖๘ ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี 
พ.ศ. ๒๔๖๙ ดำรงตำแหน่งนายก ราชบัณฑิตยสภา 
พ.ศ. ๒๔๗๒ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน พระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" 
พ.ศ. ๒๔๘๖ สิ้นพระชนม์ 
           

           สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่ และงานสำคัญอย่างยิ่ง ของบ้านเมือง ทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างสูง ผลงานด้านต่าง ๆ ของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพอันสูง เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนทุกยุคทุกสมัย

พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

      สมเด็จพระนเรศวรอีกหนึ่งในพระมหากษัตริย์ของไทยผู้ได้กอบกู้แผ่นดินจากอริราชศัตรู พระองค์ทรงใช้ความพรากเพียร ความอุสาหะมิใช่น้อย กว่าที่จะสร้างชาติให้เรา นั้นอยู่อย่างสุขสบายในทุกวันนี้      

ประวัติ
พระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๐๙๘- ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘)
ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ ค่ะ ทรงเป็นโอรสของ สมเด็จพระมหาธรรมราชา และ พระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก ทรงมีพระเชษฐภคิณีคือพระสุพรรณกัลยา และทรงมีพระอนุชาคือสมเด็จพระเอกาทศรถ(องค์ขาว) ดังนั้นพระองค์จึงทรงเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย

พระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์กับชีวิตและการศึกษาในหงสาวดี
       ตลอดระยะเวลาในวัยเยาว์ของพระนเรศวรทรงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าเมืองพิษณุโลกยอมอ่อนน้อมต่อแห่งหงสาวดี และทำให้พิษณุโลกต้องแปรสภาพเป็นเมืองประเทศราชหงสาวดีไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองได้ทรงขอพระนเรศวรไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ทำให้พระองค์ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนตั้งแต่มีพระชนม์มายุเพียง ๙ พรรษา
          นอกจากพระองค์แล้วยังมีองค์ประกันจากเมืองอื่น ๆ ที่เป็นเมืองขึ้นของหงสาวดีเป็นจำนวนมาก พระเจ้าบุเรงนองนั้น ทรงให้เหล่าองค์ประกันได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดี
       พระนเรศวรทรงใช้เวลา ๘ ปีเต็มในหงสาวดี ศึกษายุทธศาสตร์ของพม่า พระองค์ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษา ทั้งภายในราชสำนักไทย และราชสำนักพม่า มอญ และได้ทราบยุทธวิธีของชาวต่างชาติต่าง ๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี เช่น ชาวโปรตุเกส สเปน หรือชาวพม่าเอง ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์ และสภาพแวดล้อมในการทำศึกได้เป็นเลิศ ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ ยุทธวิธีที่ทรงใช้ ได้แก่ การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก และยุทธวิธีการรบแบบกองโจร พระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป นอกจากนั้น หลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น การดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก การออมกำลัง และการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธ ความเด็ดขาดในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ และประสบผลสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด เนื่องจากการที่พระองค์มีชีวิตอยู่ในฐานะองค์ประกันทำให้ทรงมีความกดดันสูงจากมังกะยอชวา (พระราชโอรสในพระเจ้านันทบุเรง) จึงทรงมีแรงผลักดันที่จะกอบกู้อิสรภาพให้กับบ้านเมืองของพระองค์ เช่น จากการชนไก่ของพระองค์กับมังกะยอชวา เป็นต้น รวมทั้งการเหยียดหยามว่าเป็นเชลย จากพวกพม่าด้วย

ยุทธหัตถี
       นับตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพเป็นต้นมา หงสาวดีได้เพียรส่งกองทัพเข้ามาหลายครั้ง แต่ก็ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาตีแตกพ่ายไปทุกครั้ง เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๓ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๑๓๓ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวร หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ และโปรดเกล้า ฯ ให้พระเอกาทศรถ พระอนุชา ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช แต่มีศักดิ์เสมอพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง
       ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากหงสาวดี และได้ทำสงครามกับอริราชศัตรูทั้งพม่าและเขมร จนราชอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ขยายพระราชอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลกว่าครั้งใดในอดีตที่ผ่านมา งานสงครามในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งในดินแดนไทยและดินแดนข้าศึก ได้ชัยชนะทุกครั้ง ทรงมีพระปรีชาสามารถในการนำทัพ ทรงริเริ่มนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้ในการทำสงคราม และเปลี่ยนแนวความคิดจากการตั้งรับมาเป็นการรุก และริเริ่มการใช้วิธีรบนอกแบบ
          ภาพแกะสลักนูนต่ำจำลองเหตุการณ์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวร ณ ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรีการสงครามกับพม่าครั้งสำคัญที่ทำให้พม่าไม่กล้ายกทัพมารุกรานไทยอีกเลย เป็นเวลาเกือบสองร้อยปีคือ สงครามยุทธหัตถี เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ นั่นคือเมื่อหงสาวดีนำโดยพระมหาอุปราชามังสามเกียดยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรก็นำทัพออกไปจนปะทะกันที่หนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี บ้างก็ว่าจังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนกระทั่งสามารถเอาพระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง สิ้นพระชนม์อยู่กับคอช้างนั่นเอง
สวรรคต
        เมื่อปลายเดือน ๕ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๔๘ ได้เสด็จประทับแรมอยู่ ณ ตำบลทุ่งแก้ว เกิดประชวรเป็นหัวระลอกขึ้น (บ้างว่าถูกตัวสัตว์พวกแมลงมีพิษต่อย) ที่พระพักตร์แล้วเลยเป็นบาดพิษจนเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ พ.ศ. ๒๑๔๘ เรื่องวันสวรรคตนี้มีรายละเอียดกล่าวต่างกัน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า เสด็จสวรรคตวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ เพลาชายแล้ว ๒ บาท ปีมะเส็ง บางตำรากล่าวว่าสวรรคตวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๐๕ (พ.ศ. ๒๑๔๘) พระชันษาได้ ๕๐ ปี เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี



 
ที่มา : ยอดมนู  เป้าสุวรรณและธีระวุฒิ  ปัญญา.เจาะตำนานพระนเรศวร ที่คนไทยยังไม่เคยรู้และประวัติศาสตร์ชาติไทยไม่เคยบันทึก. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์แฮปปี้บุ๊ค,2553