วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

พระยาพิชัยดาบหัก

          
            

         พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ จ้อย เกิดที่บ้าน ห้วยคา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2284 ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ศึกษาอยู่กับท่านพระครูวัดมหาธาตุหรือวัดใหญ่ เมืองพิชัย ภายหลัง จ้อยได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นทองดี หรือ ทองดีฟัน ขาว มีความสามารถทั้งทางเชิงมวยและเชิงดาบ  ภายหลังพม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย 2 ครั้ง ในการรบครั้งที่ 2 พระยาพิชัยถือดาบสองมือ ออกต่อสู้จนดาบหักไปข้างหนึ่ง และรักษาเมืองไว้ได้ ดังนั้นจึงไดัรับสมญานามว่า " พระยาพิชัยดาบหัก " 
        วีรกรรมสำคัญ 
        พระยาพิชัยดาบหักชื่อเล่นว่าจ้อยเกิดที่อุตรดิตถ์ โตมาเป็นนักมวยตระเวณชกมวยตามงานวัดต่างๆ จนขึ้นชื่อไปถึงเมืองตาก และได้ชกมวยต่อหน้าเจ้าเมืองตาก(สิน) จนเจ้าเมืองประทับใจจึงให้ช่วยรับราชการให้ไปดูแลเมืองพิชัย ครั้นเมื่อพม่าบุกรุกมาท่านก็ต่อสู้รักษาแผ่นดินจนดาบหัก ปี 2310   เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีฯ พระยาตาก(สิน)ถูกเรียกตัวเข้ากรุง พระยาพิชัยก็ติดตามพระยาตาก(สิน)เข้าไปต้านพม่าในกรุงด้วย ท้ายที่สุดต้านพม่าไม่อยู่พระยาตาก(สิน)ก็ตัดสินใจตีฝ่าวงล้อมพม่าพร้อมด้วยทหารจำนวนหนึ่งออกไปทางชลบุรี หนึ่งในทหารที่ตีฝ่าวงล้อมออกไปก็มีพระยาพิชัยดาบหักไปด้วย พระยาพิชัยกลายเป็นทหารคู่ใจของพระยาตาก(สิน) เที่ยวตีหัวเมืองต่างๆ เพื่อรวบรวมไพร่พล ตั้งแต่ชลบุรี ตราด และก่อนจะทุบหม้อข้าวเข้าตีจันทบุรีที่เป็นเมืองใหญ่ คนทีเข้าไปพังประตูเมืองจันทบุรีคนแรกก็คือพระยาพิชัยดาบหักท่านนี้ แล้วยึดเมืองจันทบุรีได้ ก่อนจะย้อนกลับมาต่อตีกับพม่าที่อยุธยาและได้รับชัยชนะเหนือพม่าประกาศอิสรภาพให้แก่กรุงศรีอยุธยา 
          เมื่อครั้งพระยาพิชัยซึ่งปกครองเมืองพิชัยในสมัยกรุงธนบุรี ท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี พ.ศ.2316  พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยได้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้น ดาบคู่มือของพระยาพิชัยได้หักไปเล่มหนึ่ง แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่า   ด้วยวีรกรรมดังกล่าวจึงได้สมญานามว่า  "พระยาพิชัยดาบหัก" 

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

         พระนามเดิมว่า สิน ทรงพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๗ ที่บ้านใกล้กำแพงพระนครศรีอยุธยา  พระราชบิดามีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ พระราชมารดาชื่อ นกเอี้ยง ต่อมาภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระเทพามาตย์ เจ้าพระยาจักรี สมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  ได้ขอรับไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรี ได้นำเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็ก ทำราชการอยู่ในบังคับบัญชาของหลวงศักดิ์นายเวร เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี เจ้าพระยาจักรี ได้ทำการอุปสมบทให้ในสำนักพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส (วัดเชิงท่า)อยู่สามพรรษาแล้วลาสิกขาเข้ารับราชการตามเดิม ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ (สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓) ได้รับโปรดเกล้า ฯ  ให้เป็นข้าหลวงพิเศษเดินทางไปชำระคดีความตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ มีความดีความชอบ ได้รับโปรดเกล้า ฯ  ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก ต่อมาเมื่อพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาตากแทน 
       เมื่อพม่ายกกำลังเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่าครั้งที่สอง
พระยาตากได้เข้ามาช่วยราชการป้องกันกรุงศรีอยุธยาอย่างเข้มแข็ง แต่ในที่สุดเมื่อเห็นว่าการป้องกันกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น ไม่อำนวยให้กระทำได้อย่างเต็มที่และอยู่นอกอำนาจหน้าที่ที่พระองค์จะแก้ไขได้ จึงได้หาทางต่อสู้ใหม่ ด้วยการตีฝ่าวงล้อมพม่าออกไป ด้วยกำลังเล็กน้อยเพียง ๕๐๐ คน
ได้ต่อสู้กับกองทหารพม่าที่บ้านพรานนก ได้ชัยชนะจากนั้นได้นำกำลังไปตั้งมั่นที่เมืองจันทบุรี เพื่อรวบรวมกำลังมากู้กรุงศรีอยุธยาที่เสียแก่พม่า  เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ 
เมื่อพระองค์ทรงรวบรวมกำลังพลได้ประมาณ ๕,๐๐๐ คน กับเรือรบ ๑๐๐ ลำ ก็ได้ยกกำลังทางเรือเข้ายึดเมืองธนบุรี ได้เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๑๑ ในวันต่อมาพระองค์ได้ตีค่ายทหารพม่าที่ค่ายโพธิสามต้น และค่ายอื่นๆ แตกทุกค่าย ทำการกู้เอกราชกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จในเวลาเพียงเจ็ดเดือน 
     หลังจากขับไล่พม่าออกไปแล้วพระองค์ก็ได้ทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๑  เมื่อพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชรญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชที่ ๔ แต่คนทั่วไปนิยมขนานพระนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาที่ถูกฝ่ายพม่าเผาผลาญวอดวาย ทำลายบ้านเมืองไปหมดสิ้นเกินกว่าที่จะบูรณะปฎิสังขรณ์ให้กลับเป็นเมืองหลวงได้ จึงทรงเลือกเมืองธนบุรี  ที่มีความเหมาะสมกว่าขึ้นเป็นราชธานี พระราชกรณียะกิจของพระองค์ในลำดับต่อมาคือการรวบรวม การรวบรวมกำลังไว้ต่อสู้กับพม่าต่อไปคือความเป็นปึกแผ่นของพระราชอาณาจักร ซึ่งในเวลานั้นได้มีผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ห้าชุมนุมต่าง ๆ ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง  ชุมนุมเจ้าพิมาย และชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช เมื่อรวมชุมนุมของพระองค์เองที่กกรุงธนบุรีแล้วก็มีถึงห้าชุมนุม พระองค์ทรงใช้เวลาในการปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ อยู่สามปี จึงเสร็จปราบปรามได้เสร็จสิ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๓ ทำให้พระราชอาณาจักรเป็นปึกแผ่น ส่วนหัวเมืองมาลายูได้แก่ เมืองปัตตานี เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน และเมืองตรังกานู ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยามาแต่เดิม และได้แยกตัวเป็นอิสระเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์เห็นว่ายังไม่พร้อม และยังไม่มีความสำคัญเร่งด่วน ที่จะไปปราบปรามจึงได้ปล่อยไปก่อน ในการทำสงครามกับพม่าในระยะต่อมา พระองค์ได้เปลี่ยนหลักนิยมในการยึดพระนครเป็นที่ตั้งรับข้าศึกมาเป็นการยกกำลังไปยับยั้งข้าศึกที่ชายแดน ทำให้ประชาชนพลเมืองไม่ได้รับอันตรายเสียหายเดือดร้อนจากข้าศึก ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการทำสงครามขยายพระราชอาณาเขต ของกรุงศรีอยุธยาออกไปอย่างกว้างขวางโดยได้ทำศึกสงครามกับพม่า และอาณาจักรอื่น ๆ รวม ๑๒ ครั้ง ในปีพ.ศ.๒๓๒๔ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ  ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพไปปราบเขมร แต่ต้องยกทัพกลับเนื่องจากทางกรุงธนบุรีเกิดจราจล โดยพระยาสรรค์ได้ก่อกบฏ ยกกำลังเข้ายึดกรุงธนบุรี แล้วจับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ให้ไปทรงผนวชที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) 
          เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหาษัตริย์ศึก ยกทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรี ได้ปราบปรามกบฎได้สำเร็จ
ราษฎรและบรรดามหาอำมาตย์ จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕  ตลอดรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงทำศึกสงครามมาโดยตลอดเวลา ๑๕ ปี โดยมิได้หยุดหย่อน ได้ขยายพระราชอาณาเขตของกรุงธนบุรีออกไป จนเกือบเท่ากับสมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงแก่พม่า พระองค์ได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช